Simple DC to DC Boost Converter with NE555N

อีกหนึ่งโครงงานสำหรับการนำไอซี NE555B มาพัฒนาเป็นวงจรบูทคอนเวอร์เตอร์ (Boost Converter) หรือเรียก Voltage multiplier และใช้ตัวเก็บประจุทำหน้าที่เก็บพลังงานในรูปของสนามไฟฟ้า แทนตัวเหนี่ยวนำซึ่งเป็นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าแบบทั่วไป เดิมแอดมินได้ทดลองโครงงานวงจรคอนเวอร์เตอร์แบบกลับค่าแรงดันอินพุต (Inverting Voltage Converter) ก่อนหน้านี้ ซึ่งตัวอุปกรณ์และวงจรต่างๆ ยังคงอยู่บนบอร์ดทดลอง (Protoboard) ดังนั้น จึงปรับปรุงวงจรอีกเล็กน้อย เพื่อให้สามารถทำงานในรูปแบบของวงจรบูทคอนเวอร์เตอร์กันต่อครับ.

Simple DC to DC Boost Converter with NE555N
รูปที่ 1 วงจรต้นแบบสำหรับบูทคอนเวอร์เตอร์ขนาดเล็ก

รูปที่ 1 เป็นการต่อวงจรบูทคอนเวอร์เตอร์ โดยส่วนใหญ่ใช้วงจรเดิมจากการทดลองวงจรคอนเวอร์เตอร์แบบกลับค่าแรงดันอินพุต โดยปรับรูปแบบของอุปกรณ์ทางด้านเอาต์พุตเล็กน้อย

Simple DC to DC Boost Converter with NE555N
รูปที่ 2 วงจรที่ใช้ในการทดลองพัฒนาจากโครงงาน Inverting Voltage Converter

รูปที่ 2 วงจรที่ใช้ในการทดลองโครงงาน ซึ่งจะปรับปรุงการต่ออุปกรณ์ที่ตำแหน่ง C2, D3, D4 และตัวเก็บประจุ C3 โดยความถี่ของสัญญาณพัลซ์จะมีค่าเดิมที่ 13kHz แอมปริจูดที่ 10Vp-p และค่าดิวตี้ไซเกิลที่ 50%

Simple DC to DC Boost Converter with NE555N
รูปที่ 3 วงจรสำหรับจำลองการทำงาน (Simulator) บูทคอนเวอร์เตอร์
Simple DC to DC Boost Converter with NE555N
รูปที่ 4 ลักษณะสัญญาณที่ได้จากการจำลอง (1)
Simple DC to DC Boost Converter with NE555N
รูปที่ 5 ลักษณะสัญญาณที่ได้จากการจำลองเมื่อ Zoom in (2)

ในรูปที่ 3, 4 และรูปที่ 5 จะเป็นการจำลองการทำงานของวงจรบูทคอนเวอร์เตอร์ โดยใช้ลักษณะของวงจรในรูปที่ 2 เป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อสังเกตและการวิเคราะห์การทำงานในเบื้องต้น ที่จะช่วยให้เข้าใจการทำงานของวงจรได้ง่ายยิ่งขึ้น จากในรูปจะเห็นสัญญาณพัลซ์สีเหลืองที่ช่องวัดสัญญาณที่ 1 (CH1) คือสัญญาณจากเจนเนอร์เรเตอร์ (XFG2) โดยกำหนดความถี่ 13kHz ดิวตี้ไซเกิล 50% และขนาดแอมปริจูดเท่า 10Vp-p ในส่วนของช่องวัดสัญญาณที่ 2 (CH2) จะเป็นการวัดค่าแรงดันที่เอาต์พุตมีค่าเท่ากับ 19.049V

Simple DC to DC Boost Converter with NE555N
รูปที่ 6 อธิบายการทำงานของวงจรในโหมดที่ 1

ในรูปที่ 6 เป็นการทำงานในโหมดที่ 1 เราจะสังเกตเห็นว่าที่แหล่งจ่ายไฟเลี้ยงกระแสตรง V1 จะมีค่าเท่ากับ 10V จะมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน D1 และ D2 ตามลำดับ โดยกระแสที่ไหลผ่าน D2 จะมาเก็บประจุไว้ที่ C5 ส่วนหนึ่งประมาณ 10V อีกส่วนหนึ่งที่ไหลผ่าน D1 จะไปประจุที่ C6 (ตามทิศทางลูกศรสีแดง) ซึ่งสัญญาณพัลซ์จะต้องเป็นช่วงเวลา 0V (หมายเลข 1)

Simple DC to DC Boost Converter with NE555N
รูปที่ 7 อธิบายการทำงานของวงจรในโหมดที่ 2

รูปที่ 7 เป็นการทำงานโหมดที่ 2 โดยในช่วงเวลานี้จะพิจารณาที่สัญญาณพัลซ์ในช่วงเวลาบวก (หมายเลข 2) ค่าแรงดันในช่วงเวลานี้จะไปรวมกับประจุไฟฟ้า C6 ที่เกิดขึ้นในโหมดที่ 1 จากนั้นจะส่งออกไปยัง D2 และมาฟิลเตอร์ที่ตัวเก็บประจุ C5 อีกครั้ง ซึ่งแรงดันเอาต์พุตจะมีค่าประมาณ 20VDC (หรือประมาณ 2*V1) ในส่วนของ D1 ช่วงเวลานี้จะได้รับไบอัสกลับนั้นเอง

Simple DC to DC Boost Converter with NE555N
รูปที่ 8 ค่าแรงดันอินพุตที่ใช้ในการทดลองที่ประมาณ 10.18V
Simple DC to DC Boost Converter with NE555N
รูปที่ 9 ค่าแรงดันเอาต์พุตที่ได้จากการทดลองที่ 19.21V
Simple DC to DC Boost Converter with NE555N
รูปที่ 10 ลักษณะของสัญญาณที่วัดได้จากการทดลองวงจรต้นแบบ

ในรูปที่ 10 แสดงลักษณะของสัญญาณที่ได้จากการทดลอง โดยใช้ออสซิลโลสโคปซึ่งจะเห็นสัญญาณพัลซ์สี่เหลี่ยมช่องวัดสัญญาณที่ 1 (CH1) ที่ได้จากไอซี NE555N และมีขนาด 10Vp-p (ใช้ไฟเลี้ยงไอซีที่ 10VDC) ในส่วนของช่องวัดสัญญาณที่ 2 (CH2) จะเป็นค่าแรงดันเอาต์พุต (+Vo) และค่าแรงดันที่วัดได้เท่ากับ 19.5V ซึ่งวงจรสามารถจ่ายกระแสได้ประมาณ 100mA

Simple DC to DC Boost Converter with NE555N
รูปที่ 11 แสดงลักษณะของการทดลองโครงงานทั้งหมด

ในโครงงานนี้เป็นอีกโครงงานหนึ่งสำหรับการนำตัวเก็บประจุมาทำหน้าที่เก็บพลังงานไฟฟ้าแทนตัวเหนี่ยวนำ เพื่อเป็นการเรียนรู้และทำความเข้าใจการประยุกต์ใช้งานตัวกับประจุในวงจรคอนเวอร์เตอร์แบบหนึ่ง และในการทดลองโครงงานยังคงเป็นการทดลองแบบเบื้องต้น เพื่อเป็นแนวทางของการพัฒนาวงจรในรูปแบบต่างๆ ต่อไป ท้ายนี้แอดมินแนะนำลิ้งก์ข้อมูลอ้างอิงข้างล่างสำหรับศึกษาในเรื่องนี้เพิ่มเติมครับ.

Reference

  1. https://sk.pinterest.com/pin/601582462703947891/
  2. https://www.electronics-tutorials.ws/waveforms/555-circuits-part-2.html
  3. https://electronics.stackexchange.com/questions/320725/using-a-ne555-for-12v-boost-to-24v-to-power-an-amplifier
  4. https://www.electronics-tutorials.ws/blog/voltage-multiplier-circuit.html
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Voltage_multiplier
  6. https://easyeda.com/