Repair of Electric Welding Machine

ทดลองทำโครงงานมาหลายตัว ครั้งนี้มาเปลี่ยนจากการทดลองวงจรเป็นการซ่อมแซม เครื่องมือทางด้านอิเล็กทรอนิกส์กำลังกันบ้างครับ กับเครื่องเชื่อมไฟฟ้า (Manual metal arc welding : MMA) ซึ่งจะมีวงจรอิเล็กทรอนิกส์ภายในหลายส่วนและค่อยข้างเยอะมากเลยครับ

welding machines
welding machines
welding machines

ในรูปที่แสดงข้างบน 3 รูปนี้จะเป็นลักษณะของเครื่องเชื่อมไฟฟ้า ที่เราจะมาซ่อมแซมกันโดยจะเป็นเครื่องที่ไม่ใหญ่มากนักและอาการเสียของตัวเครื่องคือ เสียบปลั๊กแล้วตัวเครื่องไม่ทำงานใดๆ และปรับค่ากระแสสำหรับเชื่อมไม่ได้

welding machines

จากการสังเกตเบื้องต้นจะเห็นตำแหน่งชำรุดของตัวอุปกรณ์บริเวณชุดจ่ายไฟเลี้ยงแรงดันต่ำ (24Vdc) มีอาการไหม้และไม่มีไฟเลี้ยง 24V ออกมา ที่เอาต์พุตและรีเลย์ ซอฟต์สตาร์ทก็ไม่ทำงาน โดยตัววงจรจะใช้ไอซีควบคุมตระกูล UC384x ในการควบคุมและใช้เพาเวอร์มอสเฟตในการขับกำลังให้กับหม้อแปลงสวิตชิ่งความถี่สูง

welding machines

เมื่อทดสอบเบื้องต้นแล้วไม่มีไฟเลี้ยง 24V นั้น ก็ทำการตรวจสอบอุปกรณ์ขับกำลังอื่นๆ เช่น ไอจีบีที ไดโอดบริดจ์กำลัง ตัวเก็บประจุแรงดันสูง และที่ตัวหม้อแปลงขับขาเกตสำหรับไอจีบีทีอีกด้วย

หลังจากทำการตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อยแล้วไม่มีส่วนใดชำรุดเพิ่มเติม ก็ทำการทดสอบการทำงานเบื้องต้นของวงจรนี้ด้วยการนำแหล่งจ่ายไฟเลี้ยงขนาด 24V จากภายนอกจ่ายเข้ามายังวงจรแล้วสังเกตการทำงานทั้งหมด ซึ่งสามารถทำงานงานได้เป็นปกติก็ทดลองทำการเชื่อมเหล็กจริงอีกครั้ง เพื่อเป็นมั่นใจในการตรวจสอบการทำงานนี้

welding machines

เมื่อทดสอบเป็นที่แน่ใจแล้วว่าเครื่องเชื่อมไฟฟ้าสามารถใช้งานได้เป็นปกติ เราก็จะยึดส่วนต่างๆ ของแหล่งจ่ายภายนอกยึดเข้ามาในกล่องของเครื่องเชื่อมไฟฟ้า ซึ่งจะประกอบด้วยหม้อแปลงขนาดเล็กแรงดัน 18V-0V-18V/1A ไอซีเรกูเลต LM317 และตัวเก็บประจุ จากนั้น ก็จัดวางอุปกรณ์ต่างๆ ให้เหมาะสมและเป็นระเบียบเรีบยร้อย

welding machines

ในรูปข้างบนจะเป็นลักษณะของสายไฟที่เราใช้ในการเชื่อมต่อกับไฟเลี้ยง 220Vac มาที่ตัวหม้อแปลง (ในกรอบสี่เหลี่ยมด้านขวามือ 2) ส่วนในกรอบสี่เหลี่ยมซ้ายมือจะเป็นแรงดันไฟเลี้ยงกระแสตรงประมาณ 24V ซึ่งเรกูเลตด้วยไอซี LM317T แล้วจะต่อเข้าที่ตำแหน่งเอาต์พุตของชุดจ่ายไฟเลี้ยงเดิม

welding machines

รูปข้างบนจะเป็นรูปมุมกว้างให้เห็นลักษณะของของการเชื่อมต่อสายไฟเข้าที่ส่วนต่างๆ ของบอร์ดเพื่อซ่อมแซมส่วนของแหล่งจ่ายไฟเลี้ยงแรงดันต่ำเดิมที่ชำรุด ส่วนการเชื่อมต่อไฟเลี้ยงให้เข้ากับชุดเดิมนั้น เราจะต้องพิจารณาเรื่องของขั้วบวกและขั้วลบด้วยครับ โดยในส่วนนี้เราจะสังเกตจากตัวเก็บประจุฟิลเตอร์เดิมเป็นหลักครับ

welding machines
welding machines

ในรูปข้างบนนี้จะเป็นการเก็บสายไฟของวงจรในส่วนที่เราต่อวงจรเพิ่มขึ้นและที่สำคัญวงจรในส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติมนี้จะไม่ทำให้การทำงานของวงจรหลักเกิดความซับซ้อนอะไรเพิ่มขึ้น แต่วงจรเดิมจะสามารถทำงานและรับไฟเลี้ยงได้ง่ายยิ่งขึ้น

welding machines

ท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมไม่แก้ไขวงจรเดิมให้สามารถใช้งานได้ คำตอบคือ 1. วงจรเดิมที่ชำรุดนั้นอุปกรณ์บางตัวไม่สามารถตรวจสอบได้ 2. ถ้าซ่อมวงจรลักษณะเดิมแล้วก็มีโอกาสจะเกิดการเสียหายแบบเดิมกลับมาอีกครั้ง 3. วงจรแหล่งจ่ายไฟเลี้ยงเดิมจะเป็นลักษณะสวิตชิ่งซึ่งจะมีโอกาสเกิดสัญญาณรบกวนระหว่างแหล่งจ่ายแรงดันสูงได้ง่าย (310Vdc) แต่การใช้หม้อแปลงความถี่ต่ำจะช่วยลดการเกิดปัญหานี้ได้

สำหรับการนำเสนอบทความการซ่อมเครื่องเชื่อมไฟฟ้านี้ คงพอจะเป็นแนวทางอีกแบบหนึ่งให้ท่านที่กำลังต้องการซ่อมหรือเรียนรู้เกี่ยวกับวงจรในเครื่องเชื่อมไฟฟ้าได้บ้างนะครับ รวมทั้งการตรวจสอบอาการเสียเบื้องต้น สำหรับเป็นแนวทางในการวิเคราะห์การซ่อมต่อไปครับ.

Infomation

  1. http://danyk.cz/svar_en.html
  2. https://320volt.com/en/welding-machine-schematics-service-manual
  3. https://erch2014.com/domashniy-uyut/13723-invertornye-svarochnye-apparaty-shema-vybor-svarochnogo-oborudovaniya.html
  4. http://www.circuitdiagram.org/lm317-5a-variable-power-supply.html
  5. https://www.electroniclinic.com/lm317-adjustable-regulator-power-supply-circuit-calculator-applications-datasheet
  6. https://www.eleccircuit.com/24v-2a-power-supply-circuit