UCC3808 Current mode PWM Controller [EP1]

สำหรับบทความนี้เป็นการแนะนำไอซีอีก 1 ตัวแบบเบื้องต้น ในตระกูล UCCCx808-x เทคโนโลยี BiCMOS ซึ่งจะมีฟังก์ชันเด่นในเรื่องของการต่อวงจรแบบพุช-พูล คอนเวอร์เตอร์, สามารถทำงานความถี่สูง, ใช้พลังงานน้อย, การออกแบบวงจรแหล่งจ่ายไฟเลี้ยงแบบออฟไลน์, วงจรคอนเวอร์เตอร์แบบใช้ความถี่สวิตชิ่งคงที่ในการควบคุมโหมดกระแส (Current-mode control) และเป็นไอซีที่ใช้อุปกรณ์ต่อร่วมน้อย

ไอซี UCC3808 มีสัญญาณเอาต์พุตขับขาเกต 2 ช่อง และมีค่าระยะเวลาหยุดการทำงานไว้ที่ 60-200nS (Dead time : DT) ซึ่งสามารถปรับค่าได้ด้วยตัวต้านทานและตัวเก็บประจุ และสัญญาณเอาต์พุตทั้ง 2 ช่องจะถูกกำหนดค่าดิวตี้ไซเกิลไม่ให้เกิน 50 เปอร์เซนต์ เพื่อความปลอดภัยของการทำงานให้กับการสวิตชิ่งที่ 2 ช่องสัญญาณ นอกจากนี้ไอซีตระกูลนี้จะมีให้เลือกใช้งานได้หลายลักษณะตัวถัง มีให้เลือกความสามารถในการทำงานในย่านอุณหภูมิที่ต้องการ การเลือกช่วงแรงดันใช้งานให้กับไอซี (Undervoltage lockout levels : UVLO)

UCC3808 Current mode PWM Controllers
รูปที่ 1 แนวความคิดของการต่อวงจรใช้งานให้กับไอซี Picture by : Ref [2]

รูปที่ 1 แสดงลักษณะการต่อวงจรของไอซีแบบเบื้องต้น ซึ่งจะต่อเป็นลักษณะของวงจรพุช-พูล คอนเวอร์เตอร์ โดยใช้ตัวต้านทานและตัวเก็บประจุในการกำหนดความถี่สวิตชิ่งที่ขา RC และที่ขาไฟเลี้ยง VDD ของตัวไอซีจะมีวงจรเรกูเลตเตอร์ภายในตัวไอซ เพื่อลดการใช้อุปกรณ์ภายนอก

คุณสมบัติเด่นทั่วไปของไอซี

  • มีสัญญาณสำหรับขับขาเกต 2 ช่อง
  • กระแสการทำงานน้อยสุดที่ 130uA
  • กระแสใช้งานปกติที่ 1mA
  • สามารถทำงานที่ความถี่สูงสุด 1 MHz
  • มีวงจรซอฟสตาร์ทภายในไอซี
  • มีวงจรจำกัดค่าแรงดันไฟเลี้ยงสำหรับไอซี
  • การขับสัญญาณเพื่อจ่ายกระแส (Source Current) ที่ 500mA และการับกระแส (Sink Current) ที่ 1A
UCC3808 Current mode PWM Controllers
รูปที่ 2 แสดงลักษณะของตัวถังไอซี Picture by : Ref [1]

รูปที่ 2 แสดงลักษณะของตัวถังไอซี ซึ่งจะมีลักษณะแบบทั่วไป (DIP) และแบบวางบนแผ่นวงจรพิมพ์ (SMD) มีให้เราเลือกใช้ตามความเหมาะสม

ฟังก์ชั่นการใช้งานของแต่ละขาสำหรับไอซี

  • COMP ขาที่ 1 เป็นขาอินพุตและเอาต์พุต ซึ่งจะขยายสัญญาณความผิดพลาดในส่วนของเอาต์พุต และเป็นขารับสัญญาณอินพุตค่าสัญญาณเปรียบเทียบพัลซ์วิดมอดูเลตชั่น
  • FB ขาที่ 2 เป็นขาอินพุต รับสัญญาณป้อนกลับและกลับเฟสให้กับวงจรขยายความผิดพลาด
  • CS ขาที่ 3 เป็นขาอินพุต สำหรับกำหนดสัญญาณพัลซ์วิดมอดูเลตชั่น การตรวจจับกระแสพีก และการตรวจจับกระแสเกินให้กับวงจรเปรียบเทียบ
  • RC ขาที่ 4 เป็นขาอินพุต เป็นขากำหนดความถี่ออสซิลเลเตอร์
  • GND ขาที่ 5 ขากราวด์
  • OUTB ขาที่ 6 เป็นขาเอาต์พุต เป็นขาส่งส่งสัญญาณพัลซ์วิดมอดูเลตชั่น
  • OUTA ขาที่ 7 เป็นขาเอาต์พุต เป็นขาส่งส่งสัญญาณพัลซ์วิดมอดูเลตชั่น
  • VDD ขาที่ 8 ขารับไฟเลี้ยงให้กับไอซี
รูปที่ 3 ตารางการเลือกเบอร์ไอซีเพื่อนำมาใช้งานที่เหมาะสม Picture by : Ref [1]

ในรูปที่ 3 แสดงตารางการเลือกไอซีมาใช้งาน ซึ่งเราสามารถเลือกช่วงอุณหภูมิการทำงานของตัวไอซี และช่วงของค่าแรงดันในการทำงาน ทั้งนี้มีให้ผู้ใช้เลือกนำมาใช้งานได้ตามความเหมาะสม

คุณสมบัติสำหรับแนะนำไปใช้งาน

  • ค่าแรงดันอินพุตสำหรับไอซี 15V
  • ค่ากระแสใช้งานสำหรับไอซี 20mA
  • ความถี่ของสัญญาณสวิคชิ่ง 200kHz
  • สัญญาณอะนาลอกในการป้อนกลับที่ขา FB และ CS ที่ 6V
  • การจ่ายกระแสที่ขาขับสัญญาณ OUTA/OUTB ที่ 500mA
  • การรับกระแสที่ขาขับสัญญาณ OUTA/OUTB ที่ 1A
  • ค่าระยะเวลาหยุดการทำงานไว้ (Dead time : DT) ที่ 60-200nS
  • ค่าระยะเวลาของการซอฟสตาร์ทที่ 3.5mS
  • อัตราการขยายในสถานะลูปเปิดของวงจรขยายความผิดพลาดที่ 80dB
UCC3808 Current mode PWM Controllers
รูปที่ 4 แสดงบล็อกไดอะแกรมวงจรภายในตัวไอซี Picture by : Ref [1]

ในรูปที่ 4 แสดงบล็อกไดอะแกรมวงจรภายในตัวไอซีต่างๆ โดยจะอธิบายเป็นกลุ่มๆ ตามฟังก์ชั่นของขาที่ใช้งาน คือ ขา OUTA/OUTB จะมีวงจรฟลิปฟลอป (RS-FF, T-FF) ภายในสำหรับกำหนดรูปแบบสัญญาณเอาต์พุตแบบพุชพูล และเซตค่าเวลาหยุดการทำงาน (Dead time : DT) ทั้ง 2 ขาไว้ด้วย ที่ขา CS จะรับค่าการตรวจจับกระแสเข้าเปรียบเทียบที่บล็อกคอมพาราเตอร์กับค่าแรงดันคงที่ 0.5V อีกส่วนหนึ่งจะส่งไปยังบล็อกเปรียบเทียบสัญญาณพัลซ์วิดธ์มอดูเลตชั่น (PWM Comparator) และอีกส่วนหนึ่งจะส่งไปเปรียบเทียบที่แรงดันคงที่ 0.75V (ทางด้านซ้ายมือ) ต่อมาที่ขา COMP จะเป็นขาส่งสัญญาณควบคุมเข้ามาที่บล็อกเปรียบเทียบสัญญาณพัลซ์วิดธ์มอดูเลตชั่นทางด้านอินพุตอีกทางหนึ่ง และสามารถส่งเป็นสัญญาณออกไปภายนอกให้กับวงจรปรับค่าชดเชยการทำงานได้ (Compensation circuit)

ในส่วนของขา FB จะทำหน้าที่รับสัญญาณป้อนกลับแรงดันเอาต์พุตเข้ามา เพื่อระดับแรงดันให้คงที่โดยในบล็อกจะสัมพันธ์การเปรียบเทียบที่มีค่าแรงดันคงที่ 2V สำหรับปรับสัญญาณพัลซ์วิดธ์มอดูเลตชั่นและวงจรซอร์ฟสตาร์ท ในส่วนสุดท้ายจะเป็นขา GND จะรับไฟเลี้ยงกราวด์ 0V สำหรับเป็นค่าอ้างอิงแรงดันลบให้กับบล็อกต่างๆ ภายในไอซี และส่วนขา VDD จะมีซีเนอร์ไดโอดรักษาค่าแรงดันคงที่ให้กับวงจรภายในอีกครั้ง และสัมพันกับบล็อกการตรวจจับช่วงแรงดันอินพุต (UVLO) และการสร้างแรงดันอ้างอิง (Voltage Reference) ภายในอีกด้วยครับ

การนำไอซีไปประยุกต์ใช้งาน

  • แหล่งจ่ายไฟเลี้ยงให้กับเซิร์ฟเวอร์และคอมพิวเตอร์
  • แหล่งจ่ายไฟสำหรับในระบบสื่อสาร
  • ดีซี ทู ดีซี คอนเวอร์เตอร์
  • แหล่งจ่ายไฟเลี้ยงสวิตชิ่งโหมดเพาเวอร์ ซัพพลาย

ในรูปที่ 5 เป็นตารางแสดงค่าพารามิเตอร์ต่างๆ สำหรับตัวอย่างการออกแบบวงจรแบบพุช-พูล คอนเวอร์เตอร์ (Push-pull Topology) และในรูปที่ 6 จะเป็นวงจรที่ออกแบบโดยใช้ไอซี UCC3808D-1 ด้วยการควบคุมโหมดกระแส ซึ่งไอซีจะตรวจจับกระแสพีกและการตรวจจับกระแสเกิน

รูปที่ 5 ตารางแสดงค่าพารามิเตอร์ต่างๆ สำหรับตัวอย่างการออกแบบวงจร Picture by : Ref [1]
UCC3808 Current mode PWM Controllers
รูปที่ 6 ตัวอย่างวงจรที่ออกแบบโดยใช้ไอซี UCC3808D-1 Picture by : Ref [1]

การทำงานของวงจรเบื้องต้น

จากรูปวงจรจะเห็นว่าค่าแรงดันเอาต์พุตจะถูกกำหนดไว้ที่ 5V โดยไฟเลี้ยงทางด้านเอาต์พุตจะแยกกันทางด้านไฟฟ้า โดยตัวไอซีจะถูกกำหนดให้ตรวจจับค่ากระแสพีกในโหมดกระแส ซึ่งใช้ทรานซิสเตอร์เบอร์ 2N2907 เป็นวงจรขยายแบบมีมิเตอร์ตามและปรับค่าการชดเชยสัญญาณดิวตี้ไซเกิลไม่เกิน 50% ที่ตัวเก็บประจุดีคัปปลิ้งจะมีความสำคัญต่อไอซีที่ขาไฟเลี้ยงแนะนำให้ใช้ประมาณ 1uF ในส่วนของตัวเก็บประจุและตัวต้านทาน (R=51K, C=10uF) สำหรับเริ่มการทำงานของไอซี จะต่อเข้ากับชุดแหล่งจ่ายไฟเลี้ยงช่วยจากขดลวดในตัวหม้อแปลงที่พันไว้ (DF02SGICT)

UCC3808 Current mode PWM Controller

การแยกกันทางไฟฟ้าจะใช้ออปโต้คัปเปิ้ลเป็นอุปกรณ์ รวมทั้งควบคุมค่าแรงดันเอาต์พุตให้คงที่และเป็นสัญญาณปรับค่าชดเชยการทำงานของไอซี สำหรับตัวเหนี่ยวนำทางด้านเอาต์พุตขึ้นอยู่กับต้นทุนที่ผู้ออกแบบต้องการสำหรับนำมาเลือกใช้ ทั้งในรูปแบบของผงเหล็ก (Iron powder), แกนชนิดโมรีเปอร์มารอยด์ (Molypermalloy : MPP) และเฟอไรท์ (ferrite core) ในส่วนของหม้อแปลงสวิตชิ่งจะใช้เบอร์ EFD size 25 ของบริษัท Magnetics Inc ซึ่งวงจรที่ออกแบบนี้จะรับค่าแรงดันอินพุตได้ตั้งแต่ 36 ถึง 72 โวลต์

แนะนำการวางไอซีบนแผ่นวงจรพิมพ์และการออกแบบวงจรร่วม

  • ที่ตำแหน่งขา VDD แนะนำให้ใช้ตัวเก็บประจุ ต่อคร่อมระหว่างขาและกราวด์
  • ที่ตำแหน่งขา CS ให้เราต่อวงจรฟิลเตอร์ระหว่างขา CS และกราวด์
  • ที่ตำแหน่งหา FB ให้เราต่ออุปกรณ์ร่วมที่ขา เพื่อลดสัญญาณรบกวนและการแทรกของสัญญาณรบกวน
  • ที่ตำแหน่งขา OUTA/OUTB สามารถจ่ายและรับกระแสได้สูง แนะนำให้ใช้ตัวต้านทานเพิ่มโดยพิจารณาจากตัวมอสเฟสและสัญญาณรบกวนที่จะเกิดขึ้น
UCC3808 Current mode PWM Controllers
รูปที่ 7 แนะนำการวางไอซีบนแผ่นวงจรพิมพ์และการออกแบบวงจรร่วม Picture by : Ref [1]

สำหรับบทความนี้เป็นการแนะนำไอซีสวิตชิ่งอีกเบอร์หนึ่งที่สามารถต่อใช้งานแบบพุช-พูล คอนเวอร์เตอร์ได้ทันที ซึ่งไอซีเบอร์นี้จะทำงานในโหมดกระแสและใช้อุปกรณ์ต่อร่วมน้อย เป็นเบอร์ที่น่าสนใจอีกเบอร์หนึ่ง ทั้งนี้ในบทความจะขอกล่าวสรุปข้อมูลที่สำคัญต่างๆ ให้ผู้อ่านพิจารณาสำหรับเลือกนำไปใช้งานต่างๆ และในส่วนรายละเอียดเฉพาะเพิ่มเติมสามารถค้นหาได้ตามลิงก์ข้างล่าง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งคิดว่าไอซีเบอร์นี้จะช่วยลดเวลาให้ท่านที่ชอบออกแบบวงจรคอนเวอร์เตอร์ หรือสวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลายได้มากเลยครับ.

Reference

  1. https://www.ti.com/lit/ds/symlink/ucc3808-1.pdf?ts=1626574921194&ref_url=https%253A%252F%252Fwww.ti.com%252Fproduct%252FUCC3808-1
  2. https://www.ti.com/lit/ds/symlink/ucc3808a-1.pdf?ts=1626574522339&ref_url=https%253A%252F%252Fwww.ti.com%252Fproduct%252FUCC3808A-1
  3. https://pdf.dzsc.com/8N-/UCC2808N-1_1173316.pdf
  4. https://e2e.ti.com/support/power-management-group/power-management/f/power-management-forum/770287/ucc3808-2-ucc3808-slope-compensation
  5. https://e2e.ti.com/support/power-management-group/power-management/f/power-management-forum/825297/ucc3808-2-fluctuating-output-issue