DIY Differential probe for Osciloscope

กับการทดลองโครงงานเล็กๆ เพื่อสร้างเป็นเครื่องมือที่จะใช้ในการทดสอบวงจร และวัดสัญญาณไฟฟ้าที่มีค่าแรงดันสูง ดิฟเฟอร์เรนเชียลโพรบ (Differential probe) ซึ่งบางครั้งสายโพรบวัดสัญญาณที่มาพร้อมกับตัวออสซิลโลสโคปไม่สามารถวัดได้ (ไม่สามารถลดทอนขนาดสัญญาณให้อยู่ในช่วงที่อ่านค่าได้เหมาะสม) และไม่สามารถวัดสัญญาณที่จะต้องใช้ตำแหน่งของจุดต่อกราวด์ร่วมกันได้ ซึ่งจะพบได้มากกับการวัดสัญญาณในวงจรอิเล็กทรอนิกส์กำลังต่างๆ เช่น สวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลาย อินเวอร์เตอร์สำหรับขับมอเตอร์ เป็นต้น

DIY Differential probe for Osciloscope
รูปที่ 1 การประกอบส่วนต่างๆ ของวงจรดิฟเฟอร์เรนเชียลโพรบ

จากในรูปที่ 1 เป็นการทดลองและประกอบส่วนของตัวต้านทานสำหรับรับค่าแรงดันที่เราต้องการวัดให้เข้ามายังออปแอมป์ให้อยู่ในขนาดที่เหมาะสม โดยในส่วนนี้จะเลือกย่านวัดแรงดันที่สามารถวัดไฟฟ้ากระแสสลับ 220Vac ได้ ซึ่งในย่านแรงดันนี้สามารถวัดสัญญาณต่างๆ ได้ค่อนข้างครอบคุมการทำงานทั่วไปได้พอควร

DIY Differential probe for Osciloscope
รูปที่ 2 ลักษณะการทดลองและปรับแต่งดิฟเฟอร์เรนเชียลโพรบ

ต่อมารูปที่ 2 เป็นการปรับแต่งวงจรให้ตัวออปแอมป์สามารถใช้แหล่งจ่ายไฟเลี้ยงเดี่ยวได้ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถใช้งานกับแบตเตอรี่ขนาด 9V ที่มีจำหน่ายทั่วไปและเลือกหาแหล่งจ่ายไฟให้กับวงจรได้ง่าย โดยวงจรที่ทดลองนี้สามารถรับไฟเลี้ยงได้ในช่วง 9V-16Vdc

DIY Differential probe for Osciloscope
รูปที่ 3 การทดลองป้อนแรงดันสูงกระแสสลับที่อินพุต

ในรูปที่ 3 เป็นการทดลองใช้วัดสัญญาณไฟฟ้ากระแสสลับ 220Vac/50Hz (ไฟบ้าน) ด้วยการใช้ปลั๊กเสียบสายไฟ 220Vac และต่อเข้าโดยต่อกับตัวโพรบที่สร้างขึ้น เพื่อดูลักษณะของสัญญาณในเรื่องขนาดและเฟสของสัญญาณ และเปรียบเทียบสัญญาณเอาต์พุตของโพรบกับแหล่งจ่ายจริงอีกครั้ง

DIY Differential probe for Osciloscope
รูปที่ 4 ลักษณะของรูปสัญญาณ 220Vac ที่วัดค่าได้
DIY Differential probe for Osciloscope
รูปที่ 5 ลักษณะของการทดลองทั่วไป

ต่อมาในรูปที่ 5 จะเป็นการใช้วาริแอก (อุปกรณ์ปรับค่าแรงดันของไฟ 220Vac) ในการรับค่าแรงดันสูงสุดและต่ำสุด เพื่อหาช่วงการทำงานของวงจรที่เราออกแบบทำงานได้อย่างถูกต้องและเรานำไปใช้งานได้ตามที่ต้องการ

DIY Differential probe for Osciloscope
รูปที่ 6 ผู้มาเยี่ยมเยือน 555.

สำหรับรูปที่ 6 ข้างบน (อันนี้เบรกนิดนึงครับ) มีนกเขาบินเข้ามาที่ห้องทำงานครับ ซึ่งที่ห้องทำงานปกติจะเปิดประตูไว้เพื่อให้อากาศถ่ายเทและตัวนี้เป็นตัวที่ 2 ที่บินเข้ามาในระหว่างการทดลอง ได้จับ ได้คุยกัน ^_^. ก็ปล่อยและอาศัยอยู่ใกล้ๆ นี้ครับ.

DIY Differential probe for Osciloscope
รูปที่ 7 การออกแบบในส่วนของตัวต้านทาน

ในรูปที่ 7 เป็นการออกแบบในส่วนของตัวต้านทานเพิ่มเติม เพื่อให้วงจรนี้สามารถวัดสัญญาณที่มีขนาดเล็กลงได้ ทั้งนี้เพื่อใช้ในการวัดสัญญาณสำหรับคอนเวอร์เตอร์ที่ใช้แรงดันไม่สูงมากนัก เช่น งานโซล่าร์เซลล์ งานในด้าน ดีซี ทู ดีซี ที่ใช้แรงดันต่ำแต่ต้องการกระแสสูง การวัดญญาณขับที่ขาเพาเวอร์มอสเฟตต่างๆ เป็นต้น

DIY Differential probe for Osciloscope
รูปที่ 8 การทดสอบวัดสัญญาณพัลซ์สี่เหลี่ยม

ในรูปถัดมาที่ 8 เป็นการทดสอบวัดสัญญาณพัลซ์สี่เหลี่ยมขนาด 5Vp-p ที่ความถี่ 100kHz ซึ่งสัญญาณที่เกิดขึ้นอาจจะมีสัญญาณรบกวนบ้าง แต่ไม่เป็นไรครับ ทั้งนี้วงจรที่ออกแบบนี้จะใช้แค่ในช่วงความถี่ไม่เกิน 60kHz ก็พอแล้ว (เป็นช่วงของแหล่งจ่ายไฟสวิตชิ่ง) ซึ่งจะนำไปใช้ในการวัดสัญญาณในกลุ่มนี้นั้นเองครับ

DIY Differential probe for Osciloscope
รูปที่ 9 การทดลองวัดสัญญาณขับตัวเพาเวอร์มอสเฟส

ในรูปที่ 9 เป็นการทดลองนำวงจรที่เราออกแบบไปใช้ในการวัดสัญญาณขับตัวเพาเวอร์มอสเฟสของวงจรซิงโครนัสบักคอนเวอร์เตอร์ (Synchronous Buck Converter) ซึ่งวงจรนี้จะต้องอาศัย Differential probe ในการวัดสัญญาณที่ตำแหน่งเพาเวอร์มอสเฟตตัวบน (High-side switches) เพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์ของสัญญาณระหว่างเพาเวอร์มอสเฟตตัวล่าง (Low-side switches) นั้นเองครับ

DIY Differential probe for Osciloscope
รูปที่ 10 สัญญาณจากการทดลองวัดเพาเวอร์มอสเฟต

ในรูปที่ 10 เป็นสัญญาณที่เกิดขึ้นจากการทดลองวัดที่ตำแหน่งขาเกตเพาเวอร์มอสเฟตตัวบนของวงจรซิงโครนัสบักคอนเวอร์เตอร์ จะสังเกตเห็นว่าสัญญาณนี้จะอยู่ในช่วงแรงดันของการขับขาเกตนั้นเอง

DIY Differential probe for Osciloscope
รูปที่ 11 การประกอบบอร์ดต้นแบบเข้าในกล่อง (1)
DIY Differential probe for Osciloscope
รูปที่ 12 การประกอบบอร์ดต้นแบบเข้าในกล่อง (2)
DIY Differential probe for Osciloscope
รูปที่ 13 การประกอบบอร์ดต้นแบบเข้าในกล่อง (3)

เมื่อทดลองวงจรทั้งหมดเป็นที่ถูกต้องแล้ว ในรูปที่ 11 ถึงรูปที่ 13 จะเป็นการนำวงจร Differential Probe ที่ประกอบลงในกล่อง เพื่อให้เราสามารถนำไปใช้งานได้ง่ายและปลอดภัยยิ่งขึ้นและเราสามารถปรับแต่งวงจรภายหลังได้ สามารถใช้ในงานที่เฉพาะอย่าง โดยในรูปจะต่อสายสัญญาณจาก Differential เข้าไปยังออสซิลโลสโคปได้โดยตรง (สามารถใช้ออสซิลโลสโคปได้ทั้งอะนาลอกและดิจิตอล) ด้วยหัวต่อ BNC

จากนั้นที่ขั้วต่อบานาน่าสีแดงและสีดำ เราใช้สายต่อเข้ากับจุดวัดสัญญาณได้ทันที ในส่วนของแหล่งจ่ายไฟเราสามารถใช้อะแดปเตอร์หรือแบตเตอรี่ก็ได้ในช่วง 9V-16Vdc ซึ่งเมื่ีอเราต่อแล้วจะมีแอลอีดีแสดงผงให้เราทราบ และจุดสุดท้ายจะเป็นสวิตช์เลือกย่านการใช้งานโดยในที่นี้ออกแบบเป็น 2 ส่วนคือ ย่าน X20 และ X500 ตามความเหมาะสม

DIY Differential probe for Osciloscope
รูปที่ 14 วงจรที่ใช้ในการทดลองโครงงาน

ในรูปสุดท้ายที่ 14 เป็นลักษณะของวงจรที่ใช้ในโครงงานนี้ และหวังว่าโครงงานนี้จะช่วยให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องมือสำหรับวัดสัญญาณอีกแบบ ซึ่งคุณภาพของวงจรสามารถนำไปใช้งานได้ดี โดยเราสามารถประกอบเพื่อใช้งานหรือประยุกต์ในส่วนต่างๆ ได้ตามความเหมาะสมครับ.

Reference

  1. https://www.digikey.be/nl/articles/safely-test-line-powered-switched-mode-power-supplies
  2. http://stevenmerrifield.com/diff-probe/v3-schematic.pdf
  3. https://electronics.stackexchange.com/questions/29363/is-this-a-good-design-layout-of-an-active-differential-scope-probe
  4. http://stevenmerrifield.com/diff-probe/index.html
  5. http://www.dgkelectronics.com/high-voltage-differential-probe/
  6. https://circuitcellar.com/research-design-hub/high-voltage-differential-probe/
  7. http://levysounddesign.blogspot.com/2016/02/differential-scope-probes.html